ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับงูจงอาง งูทั่วไปมีทั้งหมดกว่า 2,500 ชนิด (Species) พบทั่วไปในประเทศไทยที่มีอากาศร้อน ยิ่งพบมากเมื่อเข้าใกล้เส้นศูนย์สูตร งูพิษแทบทุกชนิดจัดอยู่ในวงศ์ Elapidae รวมทั้งงูจงอางด้วย
งูจงอางมีชื่อสามัญว่า King Cobra มีความยาวเฉลี่ย 3.7 เมตร อาจยาวถึง 5.5 เมตร มีลูกตาสีน้ำตาลอำพัน ลำตัวสีเขียวอมเทา หรือน้ำตาล มีลายปล้องสีเหลืองคาดทั่วไป ตัวผู้มีลำตัวยาวกว่าตัวเมีย เมื่อถูกรบกวนจะชูคอยกตัวสูงประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว และขยายแผงคอออก ที่เรียกกันว่า แผ่แม่เบี้ย มีนิสัยว่องไว ไม่ชอบความร้อน โดยเฉพาะความร้อนโดยตรงจากแสงอาทิตย์ ชอบนอนตามที่เย็นๆ เช่นกอไผ่ โพลงไม้ ซอกหิน พบชุกชุมตามป่าเกือบทุกภาคในประเทศไทย ยังพบทั่วไปในประเทศฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, พม่า, อินเดีย, และจีนตอนใต้ ไม่สามารถพบได้ในอเมริกา หรือยุโรป
งูกลืนอาหารชิ้นใหญ่ๆ ได้เนื่องจากกระดูกกราม และกะโหลกยึดติดกันด้วยเอ็น จึงเคลื่อนและยึดขยายออกได้ งูจงอางเป็นงูพิษ มีเขี้ยวแข็ง เขี้ยวจะยึดติดกับเหงือกแน่นไม่สามารถหดหรือพับได้
แตกต่างจากงูที่มีเขี้ยวอ่อนสามารถเก็บเขี้ยวไว้ใต้เพดานปากได้ เช่น งูหางกระดิ่ง ปกติงูจงอางไม่ใช่งูที่ดุร้าย แต่มีพิษที่รุนแรงต่อระบบประสาท ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่น เมื่องูจงอางฉกกัดเหยื่อจะฉกแรง บางครั้งเขี้ยวมักจะหลุดติดออกไปด้วย เขี้ยวพิษจะงอกใหม่ได้เป็นระยะๆ ปกติจะงอกออกมาก่อนเขี้ยวเก่าจะหลุด บางเวลาจึงเห็นงูมีเขี้ยวข้างละ 2 เขี้ยวได้ งูจงอางสามารถฉกกัดในระยะห่างไม่เกิน 18 เมตร เมื่อฉกกัดต้องกัดค้างไว้ แล้วจึงปล่อยพิษจากต่อมพิษ 2 ต่อมบริเวณหลังดวงตา ไม่สามารถพ่นพิษได้เหมือนงูเห่า
งูทุกชนิดกินสัตว์ด้วยกัน งูใหญ่จะกินสัตว์จำพวกแมลง กบ หนู มีงูบางชนิดที่กินงูด้วยกัน คือ งูจงอาง ดังนั้นงูจงอางจึงมีส่วนสำคัญในการรักษาระบบนิเวศ สร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติโดยเฉพาะการควบคุมปริมาณสัตว์ในธรรมชาติไม่ให้มีมากเกินไป งูจึงเป็นสัตว์สำคัญยิ่งต่อความยั่งยืนของธรรมชาติ
การเลี้ยงงูจงอางที่บ้านโคกสง่า การเลี้ยงงูจงอางที่บ้านโคกสง่า เป็นการเลี้ยงงูเยี่ยงสัตว์เลี้ยง งูบางตัวได้รับการเลี้ยงมาเป็นเวลาถึง 15 ปี ชาวบ้านจะซื้องูมาในราคา 3,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของงู นำมาเลี้ยงในลังไม้ที่มีน้ำและความชื้นอยู่ ลังจะมีขนาดกว้าง 50 ซม. ยาว 80 ซม. สูง 20 ซม. จะเก็บไว้ใต้ถุนบ้านหรือตามยุ้งฉาง มีการให้อาหาร 3-4 วันต่อครั้ง อาหารมักจะเป็นงูขนาดเล็ก เช่น งูปลา งูสิง งูดิน งูดั้งแห หรือ กบ เขียด ถ้าให้อาหารเพียงพองูจะลอกคราบประมาณเดือนละครั้ง เมื่อเลี้ยงได้สักพัก งูจะเริ่มเชื่อง สามารถจับมาแสดงได้ ทั้งนี้ยังคงต้องระมัดระวัง เนื่องจากงูยังมีพิษและฉกกัดได้ตลอดเวลา ผู้แสดงต้องใช้ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษ ทำให้การแสดงเป็นที่น่าตื่นเต้น


ต้นว่านพญาจงอาง

ระบบการเลี้ยงงูเป็นไปในลักษณะเจ้าของงู ต่างคนต่างเลี้ยงไว้ในกระบะที่บ้านของตน เมื่อจะไปเร่ขายยาสมุนไพรที่ใด ก็หิ้วลังกระบะใส่งูไปด้วย งูส่วนใหญ่ผ่านไปในหลายจังหวัดกับเจ้าของเมื่อเจ้าของนำออกมาจากลังกระบะ งูจะเลี้ยงออกมา และแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของมัน เช่น การชูหัวแผ่แม่เบี้ย เพื่อป้องกันตัว และข่มขู่เมื่อถูกล่อ มิใช่การแสดงละเล่น ที่เจ้าของฝึกฝนให้แสดงตามใจ ได้เหมือนการแสดงของช้างหรือลิง แต่การแสดงหยอกล่อและยั่วยุกับงู ตามที่ชาวบ้านโคกสง่า เรียกว่าการชกมวยกับงูนั้น เป็นสิ่งน่าสนใจและตื่นเต้น เนื่องจากความน่าเกรงขามและความดุร้ายของงูจงอาง ซึ่งนักเร่ขายยาสมุนไพรของบ้านนี้ ก็มีใจหาญกล้าพอที่จะเสี่ยงชีวิตท้าทาย กับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาทีของการแสดง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ร่วมกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย และชมรมงูจงอางแห่งประเทศไทย (ก่อตั้งโดยกลุ่มชาวบ้านโคกสง่า)ร่วมกันจัดโครงการขยายพันธุ์งูจงอาง เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์งูจงอาง รวมถึงการเลี้ยงงูให้ใกล้ธรรมชาติ จึงได้มีการสร้างโรงเพาะพันธุ์งูจงอางขึ้น บริเวณวัดศรีธรรมา อันเป็นวัดประจำหมู่บ้านโคกสง่า เสร็จในปี พ.ศ.2539 ทำให้งูจงอางได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ มากขึ้น ในปี พ.ศ.2540 แม่งูจงอางบ้านโคกสง่า 3 ตัวที่ได้รับการผสมพันธุ์ได้วางไข่ในโรงเพาะเลี้ยง ต่อมาได้ฟักลูกงูจงอางถึง 13 ตัว โดยได้รับความร่วมมือและดูแลอย่างใกล้ชิด จากนายสัตวแพทย์สมโภชน์ วีระกุล อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำไข่บางส่วนที่ยังไม่ฟัก แต่มีเปอร์เซ็นต์ การเสียมากไปไว้ในตู้ฟักปรับอุณหภูมิที่เหมาะสม ในห้องทดลองปรากฏว่าสามารถฟักได้เป็นตัวทั้งหมด กล่าวได้ว่าประเทศไทย มีการฟักไข่งูจงอางในห้องทดลองได้เป็นครั้งแรกของโลก เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับยังไม่มีนักวิชาการศึกษาเรื่องเลี้ยงลูกงูจงอาง รวมถึงปัญหาในการให้อาหารลูกงูจงอาง จึงทำให้ลูกงูจงอางไม่สามารถรอดชีวิตได้ ดังนั้นจึงยังคงเป็นภารกิจสำคัญ ของผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่จะต้องศึกษา หาวิธีการเลี้ยงลูกงูจงอาง ให้สามารถเจริญเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ต่อไป หากโครงการนำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ มีปริมาณงูเพิ่มขึ้นได้จาการเพาะพันธุ์แล้ว ส่วนหนึ่งจะปล่อยคืนธรรมชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศ และอนาคตคงจะไม่มีการจับงูจากธรรมชาติ มาเลี้ยงในหมู่บ้านอีก แต่ชาวบ้านยังคงมีรายได้ จากการแสดงงู รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงูจงอาง สำหรับประชาชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป
แผนที่แสดงเส้นทางไปหมู่บ้านงูจงอาง ( บ้านโคกสง่า )
